4/11/58

Bonds:ตราสารหนี้



Bond
ตราสารหนี้

          ตราสารหนี้ คือ เครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่ง โดยถ้าเราซื้อตราสารหนี้เท่ากับเรามีสภาพเป็นเจ้าหนี้ เหมือนกับเราเอาเงินไปให้คนอื่นยืม ส่วนคนที่ออกตราสารให้เราจะมีสภาพเป็นลูกหนี้เรา โดยผลตอบแทนที่ได้ คือ ดอกเบี้ยครับ โดยปกติอายุของตราสารหนี้จะถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วันแรกที่ออกตราสารแล้ว เช่น อายุ 6 เดือน,1 ปี,3 ปี,5 ปี เป็นต้น โดยระหว่างที่ตราสารหนี้ยังไม่ครบอายุ จนถึงวันที่ตราสารหนี้หมดอายุ ลูกหนี้จะต้องทำการชำระคืนเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือตราสารหนี้มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินเหนือกว่าผู้ถือหุ้นอีกด้วย

ใครเป็นผู้ออกตราสารหนี้ได้บ้าง?
1.รัฐบาล  ถือว่าเป็นตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก   เพราะ ลูกหนี้เป็นถึงรัฐบาล โอกาสเบี้ยวหนี้ มีน้อยมาก โดย ถ้าต้องการใช้เงินแบบสั้นๆ ไม่เกิน  1 ปี จะเรียกว่า ตั๋วเงินคลัง( Treasury bill) แต่ถ้าเกิน 1 ปีจะเรียกว่าพันธบัตรรัฐบาล (government bond) 
2.รัฐวิสาหกิจ  คือ องค์กรที่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และแสวงหาผลกำไร เช่น การปะปา การไฟฟ้า  ซึ่งก็มีความเสี่ยงต่ำ (แต่สูงกว่า ตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรเพียงหน่อยเดียว ) ตราสารแบบนี้จะเรียกว่า พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (state enterprise bond)
3.บริษัทเอกชน  โดยถ้าออกเพื่อใช้หมุนเวียนในธุรกิจน้อยกว่า 1 ปี จะ เรียกว่า ตั๋วแลกเงิน(ตั๋ว B/E หรือ หุ้นกู้ระยะสั้น) แต่ถ้าต้องการใช้เงินระยะยาวมากกว่า 1 ปี ก็จะออกหุ้นกู้ (Bonds) โดยถ้าลงทุนในบริษัทชั้นดี เช่น ฐานะการเงินดี มีกำไรต่อเนื่อง ก็จะมีความเสี่ยงต่ำ แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ต่ำเช่นกัน  แต่ถ้าลงทุนในบริษัทที่มีประวัติการเงินไม่ค่อยดี ก็จะมีความเสี่ยงไม่ได้เงินต้น หรือ ดอกเบี้ยตามที่กำหนด แต่ข้อดีคือ ดอกเบี้ยจะมากกว่า บริษัทชั้นดีครับ

ขอบคุณภาพจาก: https://www.ktzmico.com


แล้วหุ้นกู้มีกี่ประเภท? เรามาดูกันครับ

แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง
1.หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinate bond)  กรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย หลังจากเจ้าหนี้ที่มีประกัน เจ้าหนี้สามัญ ได้รับชำระหนี้ไปแล้ว ทรัพย์สินที่เหลือจึงจะนำมาเฉลี่ยให้กับเจ้าหนี้ประเภทด้อยสิทธิ แล้วตามด้วยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และสุดท้าย คือ หุ้นสามัญ
2.หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีสิทธิทัดเทียมกับเจ้าหนี้ที่มีหลักประกัน(กรณีหุ้นกู้มีหลักประกัน) หรือ เจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆในการเรียกร้องให้ชำระหนี้ และมีสิทธิเรียกร้องสูงกว่าผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ

แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
1.หุ้นกู้มีหลักประกัน ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการออก หลังจากนั้นจึงค่อยนำทรัพย์สินที่เหลือมาเฉลี่ยให้กับเจ้าหนี้ประเภทไม่มีประกัน ประเภทด้อยสิทธิ ตามด้วยผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และสุดท้าย คือ หุ้นสามัญ
2.หุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน ผู้ถือตราสารหนี้ชนิดนี้อาจมีฐานะเป็นเจ้าหนี้สามัญทั่วไปของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ หรืออาจมีสถานะเทียบเท่าหุ้นกู้ด้อยสิทธิก็ได้
ขอบคุณภาพจาก: https://www.ktzmico.com


ถ้าแบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง (embedded option) ที่ติดมาพร้อมกับตราสารหนี้ จะได้
   -หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝงอื่น (straight / fixed rate and option free bond) 
   -หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate bond) 
   -หุ้นกู้แปลงสภาพ (convertible bond) 
   -หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายคืนเงินต้น (Amortizing bond) 

   -หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable bond)
   -หุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable bond) 
   -หุ้นกู้ที่เกิดจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)
   -ตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Perpetual Bond)

ซึ่งรายละเอียด  ลองศึกษาได้จาก: http://www.thaibond.com/bondmarket/bond_type.html

นอกจากนี้ ตราสารหนี้บางตัวที่เราไม่ค่อยคุ้นหู

บัตรเงินฝาก  (  NEGOTIABLE  CERTIFICATE  OF  DEPOSIT  /  NCD )
          คือตราสารชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายการฝากเงินแบบประจำ  ที่ธนาคารพาณิชย์ออกให้แก่ผู้ฝากเงิน  ต่าง จากการฝากประจำตรงที่สามารถเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้  และจำนวนเงินขั้นต่ำในการฝากเงิน อยู่ที่  5  แสนบาท  โดยระยะเวลาที่ฝากจะอยู่ระหว่าง 3  เดือนถึง  3  ปี  แล้วแต่จะกำหนด   ผู้ถือจะได้รับเงินต้น   และดอกเบี้ยทั้งหมดก็ต่อเมื่อถือจนครบกำหนด  ดังนั้นผลตอบแทนจึงมักมากกว่าการฝากประจำ             

 สลิปส์ -  แคปส์  (  SLIPS  ,  CAPS  )
         คือ  หุ้นบุริมสิทธิ์ควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์  ที่สถาบันการเงินนำออกมาขายระดมทุนในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน  เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มทุนในรูปของหุ้นสามัญได้  จึงระดมทุนในรูปหุ้นบุริมสิทธิ์  ที่มีหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ดอกเบี้ยสูงถึง  22  %  มาจูงใจ  โดยคาดการณ์ว่า  ในช่วง  5  ปีแรก  บริษัทคงยังไม่มีกำไรมาจ่ายเงินปันผลให้หุ้นบุริมสิทธิ์  ดอกเบี้ยรับเฉลี่ยจึงตกปีละ  11  %  เมื่อครบ  5  ปีสถาบันการเงินเหล่านี้มีสิทธิไถ่ถอนหลักทรัพย์ดังกล่าวได้

ตั๋วสัญญาใช้เงิน   (  PROMISSORY  NOTE  /   P/N  ) 
            เป็นหนังสือซึ่งผู้ออกตั๋วให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง  ให้แก่บุคคลหนึ่ง   คล้ายๆการเขียนเช็คล่วงหน้าเพียงแต่ผู้ออกตั๋วต้องอยู่ในรูปของบริษัท  และตั๋วเงินนี้ต้องติดอากรแสตมป์ให้เรียบร้อยแต่ความหมายของตั๋วสัญญาใช้เงินในท้องตลาดหมายถึง ตั๋วเงินที่บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์  จะออกให้กับผู้ฝากเงิน  ซึ่งมักให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากธนาคาร  การฝากเงินสามารถฝากได้ตั้งแต่  10,000  บาทขึ้นไป  ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ

แล้วหุ้นกู้เค้ามีการจัดอันดับความเสี่ยงยังไง?  เดี๋ยวคราวหน้ามาว่ากันต่อครับ
                          
ขอบคุณภาพจาก: http://mpics.manager.co.th/
ข้อมูลบางส่วนจาก:www.thaifinancialadvisor.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น